การศึกษากับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) (๒๕๔๙:๒๓-๓๕) ได้กรุณาแสดงธรรมกล่าวถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนไว้โดยสรุปว่า การพัฒนาเป็นกระบวนการที่ประเทศไทยรับแนวทางมาจากองค์การสหประชาชาติในช่วงทศวรรษ ๒๕๐๐-๒๕๑๐ ภายใต้การผลักดันของธนาคารโลก ดังนั้น จึงเป็นการเน้นหนักทางด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ จึงเป็นที่มาของ “สภาเศรษฐกิจแห่งชาติ” และมีการจัดตั้ง คณะกรรมการดำเนินการวางผังเศรษฐกิจของประเทศ ในปี พ.ศ.๒๔๙๖
การพัฒนาที่ยั่งยืน ตามความหมายของพระธรรมปิฎก คือ (พระธรรมปิฏก. ๒๕๔๙:๖๔)
“...การพัฒนาที่สนองความต้องการของปัจจุบัน โดยไม่ทำให้ประชาชนรุ่นต่อไปในอนาคตต้องประนีประนอมยอมลดความสามารถของเขา ในการที่จะสนองความต้องการของเขาเอง…”
การพัฒนาที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจก่อให้เกิดปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ในปัจจุบันเรื่องจริยธรรมจึงเป็นสิ่งที่ทุกสถาบันการศึกษาให้ความสนใจและเปิดการสอนจริยธรรมทางธุรกิจอย่างจริงจัง นับตั้งแต่มหาวิทยาลัยอับดับ ๑ ของโลก คือ ฮาวาร์ด ลงไปจนถึงสถาบันฝึกอบรมต่างๆ
สภาพปัญหาการศึกษาไทยที่ไม่สนองตอบการพัฒนาที่ยั่งยืน
พฤติกรรมของเด็กและเยาวชนไทยในปัจจุบัน สะท้อนความเสื่อมของคุณธรรมและจริยธรรมอย่างชัดเจน ปัญหาเกิดขึ้นทั้งระบบวิธีคิดและพฤติกรรมที่แสดงออก ภายใต้อิทธิพลของลัทธิบริโภคนิยม ธนานิยม และสุขนิยม การเรียนเพียงเพื่อให้ได้ใบปริญญา เป็นเส้นทางที่จะแสวงหารายได้และผลประโยชน์เพื่อตนเองมิใช่สังคม ซึ่งสภาพดังกล่าวนี้สามารถวิเคราะห์ได้ว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการจัดการศึกษาที่มิได้ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้แก่ผู้เรียนอย่างเพียงพอ (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. ๒๕๔๗:๑)
ปัญหาการศึกษาทางด้านคุณธรรมจริยธรรม มีสาเหตุมาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้อง คือ
๑. ขาดการฝึกผู้เรียนให้ใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม
๒. ขาดการบูรณาการคุณธรรมในวิชาต่างๆ
๓. ขาดความร่วมมือจากภาคีอื่นในสังคมเพื่อสร้างคุณธรรมจริยธรรม
๔. การขาดสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยในการจัดการศึกษา
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
คุณภาพการศึกษาประกอบด้วย ๓ มิติที่มีความสัมพันธ์เชิงระบบซึ่งกันและกันคือ
๑. คุณภาพของปัจจัยนำเข้า (Inputs) ซึ่งได้แก่ หลักสูตร ครูและบุคลากรทางการศึกษา
- หลักสูตรคือ ข้อกำหนดว่าด้วยจุดหมาย แนวทาง วิธีการ และเนื้อหาสาระในการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ความสามารถ ทัศนคติและพฤติกรรมตามที่กำหนดตามจุดมุ่งหมายของการศึกษา (กรมวิชาการ ๒๕๓๓: ๑) หลักสูตรจึงเป็นหัวใจของการจัดการศึกษา เพราะหลักสูตรเป็นตัวกำหนดทิศทางในการจัดการเรียนการสอนที่ครูจะใช้เป็นกรอบในการพัฒนาผู้เรียนให้เกิดความรู้ ความสามารถ ส่งเสริมให้เอกัตบุคคลได้พัฒนาไปตามศักยภาพสูงสุดของตนเอง เพื่อให้มีชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ตามจุดมุ่งหมายการศึกษาของชาติที่กำหนดไว้
- ได้เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าวิชาชีพครูเป็นวิชาชีพที่มีศักดิ์ศรีและมีเกียรติ ในอดีตสังคมไทยให้ความยกย่องนับถือครูมาก ในปัจจุบันแม้การยกย่องนับถือจะลดน้อยลงบ้างแต่ก็ยังเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบทเพราะครูเป็นผู้เอื้อความรู้ทั้งทางวิชาการและคุณลักษณะทางสังคมให้เกิดขึ้นกับทุกคน ซึ่งปัญหาของครูในปัจจุบัน คือ สถานภาพอาชีพครูตกต่ำ คนเก่ง คนดี ไม่เลือกเรียนวิชาครู ผู้ที่เข้าศึกษาในสถาบันฝึกหัดครูส่วนหนึ่งไม่มีความตั้งใจที่จะเรียนและสมัครสอบ นอกจากนี้กระบวนการผลิตครูยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และ รายได้ของครูต่ำ แต่ภาระงานมีมาก การพิจารณาเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งยังไม่สอดคล้องกับการพัฒนาครู ทำให้ครูขาดกำลังใจ ครูบางส่วนจึงมักใช้เวลาไปประกอบอาชีพอื่นเสริม
๒. คุณภาพของกระบวนการ (Process) ซึ่งได้แก่ กระบวนการเรียนการสอนและการบริหารจัดการศึกษา
กระบวนการเรียนการสอนเป็นกระบวนการที่ครูเป็นผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ตามกรอบหลักสูตรให้กับผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนได้เกิดความรู้ ความเข้าใจค่านิยม คุณธรรม จริยธรรม ทักษะและกระบวนการต่าง ๆ ในอันที่จะนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการเรียนรู้ไปใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตและการศึกษาต่อ จากการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษา (๒๕๔๖:๕๕-๕๖) พบว่า การจัดกระบวนการเรียนการสอนเป็นลักษณะ "ผู้สอนเป็นศูนย์กลาง" ใช้การบรรยายเน้นการท่องจำเนื้อหามากกว่าการปฏิบัติจริงไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนร่วมคิดร่วมดำเนินการศึกษาหาความรู้ เน้นการเรียนการสอนตามเนื้อหาสาระ นอกจากนั้นวิธีและเกณฑ์การประเมินผลและการคัดเลือกเข้าเรียนต่อเป็นเครื่องกำหนดการเรียนการสอนของครูและนักเรียนเป็นอย่างมาก โดยยังคงกำหนดวิชาหนังสือหรือการสอบได้คะแนนคะแนนสูงเป็นสำคัญ
๓. คุณภาพของผลผลิต (Outputs) ซึ่งได้แก่ คุณภาพของผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร
คุณภาพการศึกษาของเด็กไทยในปัจจุบันปรากฏว่า ผลการเรียนในวิชาพื้นฐานสำคัญคือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ มีแนวโน้มต่ำลง ความสามารถของเด็กไทยในวิชาดังกล่าวยังไม่อาจเทียบกับมาตรฐานการเรียนรู้ของเด็กชาติอื่น ๆ ได้หรือส่วนที่เทียบได้นั้นมีจำนวนน้อยมาก ทั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจากการกวดวิชาเข้มเป็นพิเศษเท่านั้น กระบวนการพัฒนาความรู้ความสามารถนี้จึงอยู่ในวงแคบ (วิทยากร เชียงกูล. ๒๕๔๐:๑๒)
แนวทางในการดำเนินงานด้านการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
จากกระแสโลกาภิวัตน์และสภาพปัญหาคุณภาพการศึกษาดังกล่าว จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะคุณภาพของนักเรียนเป็นสำคัญ เพื่อให้สามารถเผชิญปัญหาและการเปลี่ยนแปลง เพื่อดำรงตนในสังคมได้อย่างดีมีความสุขร่วมรับผิดชอบพัฒนาชุมชนประเทศชาติ และสังคมโลก จึงเห็นสมควรต้องพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ ซึ่งได้แก่ ปัจจัยนำเข้า (Inputs) และกระบวนการ (Process) เพื่อให้เกิดผลผลิต (Outputs) คือนักเรียนที่มีคุณภาพนั่นเอง
ปัจจัยนำเข้า (Inputs) และกระบวนการ (Process) ที่สำคัญที่ต้องได้รับการพัฒนาในทันที ได้แก่ หลักสูตร ครูและบุคลากรทางการศึกษา กระบวนการเรียนการสอน และการบริหารจัดการ โดยมีการประกันคุณภาพการศึกษาเป็นกลไกสำคัญผลักดันให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การยกระดับคุณภาพการศึกษาของนักเรียน บนพื้นฐานของวัฒนธรรมไทยให้มีมาตรฐานสูงมีคุณภาพในระดับสากลและมีชีวิตอยู่ในสังคมโลกได้อย่างมีความสุข โดยมีแนวคิดในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในแต่ละด้าน ดังนี้
๑. การพัฒนาหลักสูตร
หลักสูตรการศึกษา จะต้องได้รับการพัฒนาให้เป็นหลักสูตรที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ มีความสมดุลทั้งด้านจิตใจ ร่างกาย สังคม และปัญญา สามารถพึ่งตนเองและร่วมมือกับผู้อื่นอย่างสร้างสรรค์ หลักสูตรต้องมีลักษณะกว้าง ยืดหยุ่น และมีความเป็นสากลทัดเทียมมาตรฐานโลก มีเนื้อหาสาระที่จำเป็นต่อการเรียนรู้โลกปัจจุบันและอนาคต เนื้อหาเชื่อมโยงและต่อเนื่องกันทุกระดับ ทั้งด้านความรู้ความสามารถ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาทั้งระบบในโรงเรียน ระบบนอกโรงเรียนและการศึกษาตลอดชีพ โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนหรือสังคมมีส่วนร่วมในการกำหนดและพัฒนาหลักสูตร ให้ยืดหยุ่นและหลากหลายสอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ที่เป็นจริงของชุมชน สังคมและการประกอบอาชีพในท้องถิ่น
๒. การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา
ครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งหมายรวมถึงผู้บริหารสถานศึกษา นับเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความสำคัญยิ่งที่รับผิดชอบจัดการศึกษาของชาติโดยตรง จะต้องได้รับการพัฒนาให้เป็นผู้ที่มี ทั้งความรู้และความสามารถและเทคนิควิธีในการปฏิบัติวิชาชีพที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Learner-Center) ได้รับการพัฒนาให้มีคุณธรรมมีความสำนึกและมีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีความเอื้ออาทรช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยมุ่งให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน มีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งต้องพัฒนายกระดับวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพที่มีเกียรติเป็นที่ยอมรับของสังคมและผู้ประกอบอาชีพครู ต้องสามารถดำรงชีพอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
๓. การพัฒนากระบวนการเรียนการสอน
กระบวนการเรียนการสอนเป็นกระบวนการนำหลักสูตรไปปฏิบัติจริงให้บรรลุผลเป็นขั้นตอนสำคัญที่ครูจะต้องดำเนินการให้ผู้เรียนได้พัฒนาขีดความสามารถของตนได้เต็มตามศักยภาพมีความสมดุลทั้งร่างกาย ปัญญา จิตใจและสังคม ให้เป็นผู้รู้จักคิด วิเคราะห์ใช้เหตุและผลเชิงวิทยาศาสตร์ มีความคิดรวบยอด รักการเรียนรู้ รู้วิธีการและสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง มีเจตคติที่ดี มีวินัย มีความรับผิดชอบ และมีทักษะที่จำเป็นต่อการพัฒนาคน พัฒนาอาชีพ และดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขตามกรอบหลักสูตรที่กำหนดไว้ ดังนั้น กระบวนการเรียนการสอน จึงต้องดำเนินการให้สอดรับจุดมุ่งหมายของหลักสูตรที่สำคัญ ดังนี้
- ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางและพั ฒนาผู้เรียนเต็มตามศักยภาพ
-เน้นกระบวนการเรียนรู้ กระบวนการคิดวิเคราะห์ กระบวนการกลุ่มและทักษะกระบวนการ
- ใช้วิธีการเรียนรู้ที่หลากหลาย ให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง
- มีการเชื่อมโยงการเรียนรู้ ทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียนทั้งภายในกลุ่มวิชาระหว่างกลุ่มวิชา และการดำเนินชีวิตจริง
- คำนึงถึงความสมดุลระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่นกับวิทยาการสมัยใหม่และความเป็นไทยกับความเป็นสากลมีการเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารและการเลือกใช้ข้อมูลที่เหมาะสมในการจัดการเรียนการสอน
- สอดแทรก ปลูกฝัง เสริมสร้างค่านิยม คุณธรรม จริยธรรมในทุกสาขาวิชา
- นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนาประสิทธิภาพการเรียนการสอน
- ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอน
- ปรับปรุงวิธีการวัดและประเมินผล โดยเน้นการวัดและประเมินผลตามสภาพจริง
๔. การปรับปรุงระบบการบริหารการศึกษา
การบริหารและการจัดการศึกษาเป็นกระบวนการส่งเสริมสนับสนุนอำนวยความสะดวกให้การดำเนินงานการศึกษาในด้านต่างๆ บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษา อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้บริหารการศึกษาจะต้องพัฒนาระบบการบริหารและการจัดการให้มีเอกภาพ ต้องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นโดยเน้นสถานศึกษาเป็นหลัก ตลอดจนให้บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนมีส่วนร่วมและรับผิดชอบในการจัดการศึกษา ให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมทั้งต้องพัฒนาระบบการวางแผนและให้มีแผนยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องสัมพันธ์เชื่อมโยงกันทุกระดับทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ
นอกจากนั้นแล้ว การสร้างความเข้มแข็งของภาคีต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารการศึกษา ดังเช่น ครู ผู้ปกครอง สถาบันศาสนา และชุมชน ให้มีการประสานงานกันเพื่อปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้แก่นักเรียน นักศึกษา ระดับต่างๆ พร้อมกันนั้นก็วางแผนจัดการเรียนการสอนโดยการบูรณาการความรู้ ทักษะ ในด้านคุณธรรมจริยธรรมเข้ามาในหลักสูตรการสอนอย่างผสมกลมกลืน
บรรณานุกรม
เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. การศึกษาด้อยสร้างคุณธรรมก่อวิกฤตสังคมทราม. กรุงเทพ:อัดสำเนา.๒๕๔๗
พระธรรมปิฏก. การพัฒนาที่ยั่งยืน. กรุงเทพ:สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง. ๒๕๔๙
วิทยากร เชียงกูล. รายงานสภาวะการศึกษาไทย พ.ศ.๒๕๔๖. กรุงเทพ:อมรินทร์พรินติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด, ๒๕๔๐
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษา. ปัญหาของการศึกษาไทย. กรุงเทพ:โรงพิมพ์สำนักนายกรัฐมนตรี. ๒๕๔๖.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น